วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวนาอำเภอบางพลี

   

วัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวนาอำเภอบางพลี



           ณ ที่ว่าการอำเภอบางพลีร่วมจัดงานประเพณีรับบัว โดยร่วมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของชาวบางพลี ที่ลานวัฒนธรรมแสดง  วิถีชีวิตชาวนาบางพลี  วิถีชีวิตชาวมอญ และชาวลาว









  วิถีชีวิตชาวนา

แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนพูลเจริญวิทยาคมบางโฉลง
        เมื่อหวนรำลึกถึงวิถีชีวิตในชุมชนบางพลีเมื่อครั้งอดีตกาล  สิ่งแรกๆ ที่เรามักนึกถึง คือ การทำนา ทำให้ผมได้นึกย้อนกลับไปในสมัยที่ผมยังเด็กอยู่  ซึ่งผมเองก็ยังเกิดทันช่วงปลายของยุคที่ไถนาด้วยควาย  การทำนาเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบางพลีทั้งนี้เพราะ มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์กว้างไพศาล และมีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม  จึงเอื้ออำนวยต่อการเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนา จึงเป็นอาชีพหลักของคนภูมิภาคนี้ แม้ว่าในปัจจุบันสังคมบางพลีได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญ ตามยุคสมัย กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม ส่งผลให้กิจกรรมหรือพิธีกรรมบางอย่างลบเลือนหายไป แต่ยังเป็นความทรงจำมิรู้ลืมที่เล่าสืบขานต่อกันมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

วิถีชีวิตชาวนาในชุมชนบางพลี 
     จะใช้ชีวิตอย่างสงบเรียบง่ายเป็นสังคมชนบท มีความเอื้ออาทรต่อกันมาก เพราะมีกิจกรรมและวิถีการผลิตที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ต้องรวมกลุ่มกัน เช่นการเกี่ยวข้าว การหอบข้าว และการนวดข้าว  ในสมัยนั้นเรียกว่า ออกแขก” 

         ชาวนาต้องมี “กระท่อม” เรือนหลังคามุงจาก ฝาขัดแตะหลังเล็ก สำหรับครอบครัวแรกเริ่มที่มีรูปแบบเรียบง่าย  สามารถสร้างให้เสร็จได้ภายในหนึ่งวัน  โดยใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและแรงงานจากชาวบ้านให้ความร่วมมือ  ยกเรือนขึ้นสูงพอควร เพื่อเก็บอุปกรณ์ทำมาหากินและทำกิจกรรมไว้ใต้ถุนบ้าน การแบ่งส่วนเรือนแสดงให้เห็นถึงการขยายขนาดของครอบครัว และมีสมาชิกเป็นเด็กอ่อน



             ส่วนเรือนสามช่วงเสาสองหลัง เชื่อมด้วยชานมีครัวไฟแยกต่างหากหลังคามุงจากและกระเบื้องสำหรับครอบครัวผู้มีฐานะ  ในบริเวณเรือนมียุ้งเก็บข้าวเปลือกและอุปกรณ์การทำนาเมื่อเริ่ม หว่านข้าว ดำนา  จะพบปลาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในนาข้าว ดังนั้น  ต้นกล้าและปลาจะเติบโตไปพร้อมๆกัน และปลาในลำคลองบางส่วนก็จะเข้ามาอาศัยในบ่อ  ในสมัยนั้นทุกบ้านจะมีบ่อสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง



            เมื่อมีความรู้สึกว่าปลาเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก จะนำเฝือกมาปิดปากบ่อไว้ เพื่อกันไม่ให้ปลาออกไปข้างนอก  เมื่อน้ำในลำคลองลดระดับลง  ชาวนาจะนำดินมาปิดกั้นปากบ่อ  และถ้าต้องการนำปลามาเป็นอาหารหรือต้องการมีรายได้  ก็ตั้งรหัสวิดน้ำในบ่อนา  และจับปลานานาชนิดที่รวมกันอยู่ในบ่อ  เพื่อนำมาทำอาหารและตากแห้งเก็บไว้บริโภคในฤดูแล้ง  และฤดูทำนาปีถัดไป  ถ้ามีจำนวนมากก็อาจจะนำออกขายหรือแลกเป็นสิ่งของเครื่องใช้อย่างอื่นที่จำเป็น


       โดยส่วนใหญ่แล้วชาวนาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบเงียบในชนบท และมีความสุขกับการทำนา ที่จริงแล้วชาวบางพลีมีการทำเกษตรภายใต้พระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว ปลูกพืชผักครัวเรือนไว้หลังบ้าน ทำทุกอย่างให้มีกิน เหลือกินจึงค่อยแบ่งขาย  ในสมัยนั้นชาวบางพลีทุกครัวเรือนใช้วิถีชีวิตอยู่กับน้ำ บ้านแต่ละหลังจะถูกยกให้สูงขึ้นจากพื้นดิน จึงเรียกว่าเรือนเพราะเวลาฤดูฝนน้ำจะท่วมทุกปี การสัญจรต้องใช้เรือพาย คนไทยให้ความสำคัญกับชาวนาเปรียบประหนึ่งว่า  ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ



                                                                  เหลียวหลังแลบางพลีวิถีไทย
                                                                         ทุ่งรวงทองอร่ามใสงามสมศรี
                                                                         อีกทั้งพืชพรรณดาษดื่นชื่นฤดี
                                                                         ปฐพีและธารน้ำอันอุดม
                                                                               มองท้องนาคราฉ่ำฝนล้นปลาบปลื้ม
                                                                        ใจด่ำดื่มข้าวเขียวสดดูเหมาะสม
                                                                         สีอ่อนแก่แลริ้วริ้วพลิ้วพร่างพรม
                                                                         งามวิไลน่าชมเกษตรกรรม
                                                                               งานหว่านดำหลังสู้ฟ้าน่าพันผูก
                                                                        นามกระดูกสันหลังชาติช่างคมขำ
                                                                        อยู่กันอย่างเรียบง่ายควรจดจำ
                                                                        ขอแนะนำสังคมเก่าชาวบางพลี...























ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม
                 โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม ตั้งอยู่ที่ ซอยวัดบางโฉลงใน  ตำบลบางโฉลง  อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น